ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 26: ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง
ช่วงก่อน พ.ศ. 2499 วัดภูเขาทองเป็นวัดร้าง ไม่มีพระจำพรรษา ต่อมามีการแต่งตั้งเจ้าอาวาส ให้เข้ามาฟื้นฟูวัด มีการปรับปรุงสัปปายะทางกายภาพให้มีความเจริญขึ้น เช่น การก่อสร้างอาคาร การจัดทำซุ้มประตูวัด เพื่อสร้างความสวยงาม รวมทั้งมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆภายในวัด เพื่อระดมทุนมาพัฒนาวัด เช่น จัดงานวัด มีการสอยดาว แสดงลิเก มีบ่อโยนเหรียญ การดูหมอดูดวง และการเช่าวัตถุมงคลต่างๆ โดยเฉพาะชื่อเสียงที่โด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยว และดึงดูดให้มีผู้มาทำบุญจำนวนมาก คือ “รอยพญานาค ” ในหอสวดมนต์ของวัด ส่งผลให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำบุญที่วัดภูเขาทอง เกิดการเร่ขายดอกไม้ธูปเทียน ชุดสังฆทาน และร้านค้าต่าง ๆ ในบริเวณวัด จนกระทั่งในช่วงเวลาต่อมา ชาวบ้านของชุมชนวัดภูเขาทอง เกิดความกังวลใจต่อการจัดการภายในวัดภูเขาทอง ทั้งด้วยลักษณะภูมิทัศน์ ที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ขยะถูกทิ้งไม่เป็นที่ ความรกของตันหญ้าที่สูงถึงระดับศีรษะ ต้นไม้ขึ้นทั่วพื้นที่จนมีสภาพเป็นป่าทึบ มีมูลนกบริเวณเจดีย์ และมูสวัวที่ถูกเลี้ยงไว้ในพื้นที่วัด โดยไม่ได้มีการดูแล และทำความสะอาดเท่าที่ควร ตลอดจนการเร่ขายของต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้เข้าวัด และประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความเลื่อมใสศรัทธา ของชาวพุทธในชุมชนมากที่สุด คือ มีคฤหัสถ์เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณใต้ถุนศาลาการเปรียญ มีการแบ่งเป็นห้องแถว และขยายพื้นที่ออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีการสร้างบ้านหลายหลัง บริเวณรอบวัดภูเขาทอง ส่งผลเสีย ต่อภาพลักษณ์ของวัดที่มีพระ และคฤหัสถ์อยู่ปะปนกัน ไม่ได้รับการแบ่งแยกให้ชัดเจน ด้วยสถานการณ์ ที่เกิดขึ้น ชาวพุทธภูเขาทองจึงตัดสินใจ ไปทำบุญที่วัดอื่นใกล้กับชุมชนเป็นเวลานานกว่า 30 ปี เมื่อวัดไม่สามารถทำหน้าที่ขัดเกลาจิตใจของผู้คนได้ดังเดิม รวมถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมที่กระทบกับวัด จากสภาพแวดล้อมของวัด ที่มีพื้นที่เป็นป่าทึบ แลดูรกร้าง และมืดมิด เนื่องจากแสงสว่างของไฟฟ้าไม่ทั่วถึง ทำให้มีคนแอบเข้ามาใช้พื้นที่แลกยาเสพติด รวมถึงการก่ออาชญากรรม ที่กลุ่มคนเข้ามาลักเล็กขโมยน้อยทรัพย์สินของวัด ทำให้วัดกลายเป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนในชุมชน รู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่เอื้อให้เกิดแรงจูงใจ ในการเข้าวัดเพื่อทำบุญ หรือศึกษาธรรมะแต่อย่างใด จนกระทั่ง พ.ศ. 2557 เกิดการร้องเรียนไปยังเจ้าคณะอำเภอจึงได้มีการเลื่อนตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปเดิม ให้เป็นเจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์วัดภูเขาทอง พร้อมทั้งคัดสรรพระรูปใหม่ขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสวัดภูเขาทอง คือ พระครูใบฎีกาประเทือง กิตติปัญโญ ซึ่งย้ายจากวัดใหญ่ชัยมงคล มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดภูเขาทองรูปที่ ๕ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กระบวนการฟื้นฟูวัด เพื่อให้กลับมาทำบทบาทด้านการพัฒนาจิตวิญญาณ และการเกื้อกูลสังคมจึงเกิดขึ้นมา โดยสืบเนื่องถึงปัจจุบัน


เจ้าอาวาสองค์ใหม่ มีกระบวนการฟื้นฟูวัดใน 3 กระบวนการ ซึ่งประเพณีการก่อเจดีย์ทราย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูธรรมะ-จิตวิญญาณ กระบวนการในข้อนี้กว่าจะดำเนินการ ในหลายระดับได้แก่
1. การรื้อฟื้นประเพณีของท้องถิ่น ด้วยทักษะประสบการณ์ของผู้ช่วยเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นพระรุ่นใหม่ (พระมหานัธนิติ สุมโน) ได้นำประเพณีเก่าของท้องถิ่นมาฟื้นใหม่ โดยออกแบบให้ทันสมัย เพื่อสื่อสารธรรม คือ “ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง” เป็นประเพณีนำน้ำผึ้งมาถวายพระ สำหรับเป็นส่วนผสมหลักในการปรุงยารักษาโรคโดยจัดขึ้นในวันที่ 15 ค่ำเดือน 10 จากการค้นคว้าประวัติประเพณีดังกล่าวทางอินเทอร์เน็ต และหาตัวอย่างการดำเนินกิจการกิจกรรมจากวัดต่าง ๆ เพื่อนำมาออกแบบให้เหมาะสมกับวัดภูเขาทอง และศึกษาพระสูตรส่วนที่เกี่ยวกับการถวายน้ำผึ้ง เนื่องจากน้ำผึ้งเป็นของดีตั้งแต่สมัยพุทธกาลเมือง นอกจากนี้ในวันงาน ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง การถวายน้ำผึ้งพร้อมทั้ง และผ้าป่า ซึ่งผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ การปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา โดยลดจากการให้ทานจากการแบ่งปันผ่านการบริจาคเงินผ้าป่า การรับศีล และรักษาศีล เพื่อฝึกปฏิบัติให้อยู่ในศีลธรรม รวมถึงการฝึกภาวนาจากการสวดมนต์ และฟังธรรมเทศนา (อรศรี งามวิทยาพงศ์และคณะ, 2561)



ชาวพุทธจะตักบาตรน้ำผึ้งกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวพุทธปฏิบัติ สืบต่อกันมา เพื่อเป็นการบูชาพระสงฆ์ การตักบาตรน้ำผึ้งนั้น เชื่อกันว่า มีอานิสงส์มากทั้งชาตินี้ และชาติหน้า เพราะพระสงฆ์จะเก็บน้ำผึ้งไว้ใช้ในคราวจำเป็น เนื่องจากน้ำผึ้งเป็นส่วนผสมหลักของการปรุงยาโบราณ อีกทั้งไม่สามารถจัดหามาเองได้ และในสมัยพุทธกาล มีสัตว์น้อยใหญ่นำผลไม้ และน้ำผึ้งมาถวายพระพุทธองค์ ได้เสวยเพื่อประทังชีวิต มนุษย์จึงถือว่า “น้ำผึ้ง” เป็นทิพย์โอสถที่สามารถนำมาบริโภคบำรุงชีวิตให้แข็งแรงเป็นยาอายุวัฒนะ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาตั้งแต่โบราณ จึงได้มี “ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง” ขึ้นมา
เนื่องจากมีตำนาน และความเชื่อสืบต่อกันมาว่า เมื่อในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้า มีพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งประสงค์ที่จะได้น้ำผึ้งมาผสมโอสถ เพื่อรักษาอาการอาพาธ วันหนึ่งได้บิณฑบาตไปในชนบทใกล้ชายป่าขณะที่กำลังโปรดสัตว์อยู่นั้น ได้พบชายชาวบ้านที่เกิดกุศลจิต อยากถวายทานแด่พระปัจเจกพระพุทธเจ้า แต่ด้วยความที่ตนเองนั้นยากจน ไม่มีอาหารอื่นใดจะถวาย นอกจากน้ำผึ้งจำนวนหนึ่งที่มีอยู่ และด้วยจิตศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นของชายผู้นั้น เมื่อรินน้ำผึ้งลงไปในบาตรของประปัจเจกพุทธเจ้า ก็บังเกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ คือ น้ำผึ้งที่รินใส่บาตรนั้น พลันเพิ่มพูนขึ้นมาจนเต็มบาตร ขณะนั้น มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งกำลังทอผ้าอยู่ เห็นว่าน้ำผึ้งล้นบาตร ด้วยจิตที่ศรัทธาในพระปัจเจกพุทธเจ้า เกรงว่าน้ำผึ้งจะเปื้อนมือท่าน จึงรีบนำผ้าที่ทอแล้วมาถวาย เพื่อซับน้ำผึ้งที่ล้นออกมา ในการถวายน้ำผึ้งของชายผู้นั้น เขาได้ตั้งจิตอธิษฐาน ขอให้ได้เกิดเป็นผู้มั่งคั่ง เป็นผู้มีอำนาจ ส่วนหญิงที่ถวายผ้าทอ อธิษฐานขอให้เกิดเป็นผู้ที่มีความงาม และโภคทรัพย์ ต่อมาเมื่อทั้งสองคนได้ไปเกิดใหม่ในโลกมนุษย์ ชายที่ถวายน้ำผึ้งได้เกิดเป็นพระราชา ผู้มีความเข้มแข็งและมั่งคั่ง ส่วนหญิงที่ถวายผ้าทอได้เกิดเป็นราชธิดาของพระราชาอีกเมืองหนึ่ง มีความงาม และโภคทรัพย์สมบูรณ์พร้อม ตามที่อธิษฐานไว้เช่นกัน (ธันวดี สุขประเสริฐ, นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ และปัณวัตน์ ผ่องจิต, 2559)
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งตำนานเล่าไว้ว่า ในอดีตกาลสมัยพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มีชายชาวบ้านอยู่ในชนบท เดินทางจะเข้าไปในเมือง แต่ระหว่างทางกลางป่าได้พบรวงผึ้ง จึงได้ไล่ตัวผึ้งออกไป แล้วตัดกิ่งไม้ถือรวงผึ้งเข้าไปในเมือง ซึ่งในเมืองขณะนั้น พระราชา และชาวเมืองกำลังมีการแข่งขันทำบุญถวายทานแด่พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยคณะสงฆ์ที่ติดตามมา โดยจัดสิ่งของวัตถุทานอันประณีตเป็นเครื่องถวาย ทั้งพระราชา และชาวเมืองแข่งขันกันถึง 6 ครั้ง แต่ก็ยังไม่มีใครชนะ ชาวเมืองจึงให้คนไปที่ประตูเมือง คอยดูว่าจะมีใครนำสิ่งของอันนอกเหนือจากที่มีอยู่แล้วมาขายบ้าง เพราะเกรงว่าพระราชาจะซื้อสิ่งของเหล่านั้นก่อน แล้วฝ่ายตนก็จะแพ้ ซึ่งในเวลานั้นชายชาวบ้าน ก็ถือรวงผึ้งเข้าประตูเมืองมาคนเฝ้าประตูเมืองเห็นดังนั้น ก็รีบเข้าไปขอซื้อรวงผึ้งทันที แต่ชายชาวบ้านเกิดความสงสัย จึงได้ถามถึงเหตุที่มาขอซื้อรวงผึ้ง คนเฝ้าประตูเมืองก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง ชายชาวบ้านผู้นั้น จึงไม่ยอมขายรวงผึ้งและมีความประสงค์ที่จะร่วมถวายทานแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้าด้วย ซึ่งชาวเมืองต่างก็ยินดี และปลื้มปิติกับชายชาวบ้านเจ้าของรวงผึ้ง จึงช่วยกันนำรวงผึ้งมาบีบคั้น ใส่ถาดทองคำใบใหญ่ ผสมกับ งา เนย คลุกเคล้าจนรสดี เสร็จแล้วก็นำไปถวายพระวิปัสสีพุทธเจ้า และคณะสงฆ์ที่ติดตามมาอย่างทั่วถึง ด้วยอานิสงส์การถวายทานครั้งนี้ของชายชาวบ้าน ที่มาจากชนบทนั้นเมื่อสิ้นอายุขัย จึงได้ไปเกิดยังเทวโลก ได้ท่องเที่ยวเสวยสุขอยู่เป็นเวลานาน จากนั้นจึงได้มาจุติเป็นพระราชาในกรุงพาราณสี และเมื่อสิ้นพระชนม์ ก็ได้มาเกิดเป็นพระราชกุมารในราชวงศ์ศากยราช ได้รับพระนามว่า สิวลีกุมาร มีพระราชมารดาพระนามว่า สุปปวาสา นับแต่ประสูติมานั้น เจ้าชายสิวลี ได้บันดาลโชคลาภให้แก่พระราชบิดา พระราชมารดา เป็นอันมาก เมื่อเจริญวัยแล้วก็ได้ออกผนวชในสำนักของพระสารีบุตร และได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ นามว่า พระสิวลีเถระ ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องพระสิวลีว่า เป็นเอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก
ดังนั้น ประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้ง จึงได้เป็นประเพณีที่มีความเชื่อกันว่า มีอานิสงส์มาก ให้โชคลาภ สุขภาพแข็งแรง จึงมีการตักบาตรกันในวันขึ้น 15 ค่า เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศเปลี่ยนแปลง พระสงฆ์ที่อาพาธจะได้มีน้ำผึ้งไว้สาหรับปรุงยา และนอกจากน้ำผึ้งแล้ว ยังสามารถถวาย น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส และน้ำมันพืช เป็นถวายเภสัชทานแด่พระสงฆ์ ตามที่สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้า ทรงอนุญาตให้ พระภิกษุฉันได้ในยามวิกาล โดยถือเป็นยารักษาโรค และบำรุงร่างกาย ประเพณีนี้ จึงเป็นการสืบต่อพุทธศาสนาได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบัน ชุมชนภูเขาทอง ตำบลภูเขาทอง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังคงสืบสานรักษาประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งนี้ไว้เรื่อยมา (ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม, ม.ป.ป.)


