ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 29: ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายสงกรานต์
คติการก่อเจดีย์ทรายในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น แต่เดิมถือว่าเป็นการบำเพ็ญทานโดยการขนทรายเข้าวัดและก่อเป็นเจดีย์ทรายเพื่อบูชาตามคติจากพระพุทธศาสนานิกายเจติวาตในส่วนที่ไม่ขัดกับหลักการของฝ่ายเถรวาท คือคติความเชื่อที่ว่าการสร้างและการประดับตกแต่งพระสถูปเจดีย์เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ (อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์, 2539) สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานที่ยอมรับกันว่าพระพุทธศาสนาที่เข้ามาเผยแพร่ในดินแดนแถบสุวรรณภูมิในช่วงแรกนี้นั้นมีทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน บางนัยถือว่าการก่อเจดีย์ทรายเป็นการนำทรายไปคืนวัด เพราะเมื่อเราไปวัดอาจมีดินทรายติดเท้าออกมาด้วยจึงควรนำไปคืน เพื่อแสดงออกถึงความเคารพในสิ่งที่เป็นของสงฆ์ ปัจจุบันส่วนใหญ่ถือว่าเป็นการขนทรายเข้าวัดเพื่อช่วยสร้าง ซ่อมแซมถาวรวัตถุปูชนียสถานตลอดจนเสนาจะนะต่าง ๆ ในวัด คติการก่อเจดีย์ทรายในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอีกทั้งมีการสร้างสรรค์ต่อยอดประเพณีให้มีชีวิตชีวาและส่งเสริมการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงในพื้นบางพื้นที่ก็อาจนำไปสู่การลดทอนการก่อเจดีย์ทรายลงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของสงกรานต์เช่นเดียวกับตัวประเพณีที่ถูกลดทอนคุณค่าด้านอื่นลงให้เหลือเพียงเทศกาลน้ำ (water festival) เท่านั้น

คติเรื่องประเพณีก่อเจดีย์ทรายยังพบในประเทศเพื่อนบ้านของไทยนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทเช่นกันได้แก่ ลาว เมียรมา และกัมพูชา ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายเหล่านี้ กลุ่มที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทและมีคติความเชื่อเรื่องขนทรายเข้าวัด เป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ต่อการสืบทอดประเพณีก่อเจดีย์ร่วมกับผู้คนในท้องถิ่น ทำให้ประเพณีก่อเจดีย์ทรายได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาพร้อมกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวพุทธในพื้นที่ (บำเพ็ญ(นามสมมุติ), สัมภาษณ์, 28 เมษายน 2564) มีคติที่ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ชาวบ้านขนทรายมาเข้าวัด และมักก่อเป็นเจดีย์องค์ใหญ่บ้างเล็กบ้าง บางคนก่อเป็นรูปกรวยเล็กๆเพื่อให้ได้จำนวนมากให้ได้ใกล้เคียงกับจำนวน 84,000 กองซึ่งเท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ ซึ่งสอดคล้องกับคติเดิมที่นิยมเอารูปแบบการทำทรายให้เป็นรูปกรวยหรือทรงเจดีย์ขนาดเล็กๆให้ได้จำนวนมากเพื่อเป็นการระลึกว่าให้มีเท่ากับ 84,000 พระธรรมขันธ์ (ภารดี มหาขันธ์ และ นันท์ชญา มหาขันธ์, 2562)