ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 27: ประเพณีไหว้วัดภูเขาทอง
ช่วงก่อน พ.ศ. 2499 วัดภูเขาทองเป็นวัดร้าง ไม่มีพระจำพรรษา ต่อมามีการแต่งตั้งเจ้าอาวาส ให้เข้ามาฟื้นฟูวัด มีการปรับปรุงสัปปายะทางกายภาพ ให้มีความเจริญขึ้น เช่น การก่อสร้างอาคาร การจัดทำซุ้มประตูวัด เพื่อสร้างความสวยงาม รวมทั้งมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆภายในวัด เพื่อระดมทุน มาพัฒนาวัด เช่น จัดงานวัด มีการสอยดาว แสดงลิเก มีบ่อโยนเหรียญ การดูหมอดูดวง และการเช่าวัตถุมงคลต่างๆ โดยเฉพาะชื่อเสียงที่โด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยว และดึงดูดให้มีผู้มาทำบุญจำนวนมากคือ “รอยพญานาค ” ในหอสวดมนต์ของวัด ส่งผลให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำบุญที่วัดภูเขาทอง เกิดการเร่ขายดอกไม้ธูปเทียนชุดสังฆทาน และร้านค้าต่าง ๆ ในบริเวณวัดจนกระทั่งในช่วงเวลาต่อมา ชาวบ้านของชุมชนวัดภูเขาทอง เกิดความกังวลใจต่อการจัดการภายในวัดภูเขาทอง ทั้งด้วยลักษณะภูมิทัศน์ ที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ขยะถูกทิ้งไม่เป็นที่ ความรกของตันหญ้าที่สูงถึงระดับศีรษะ ต้นไม้ขึ้นทั่วพื้นที่จนมีสภาพเป็นป่าทึบ มีมูลนกบริเวณเจดีย์ และมูสวัวที่ถูกเลี้ยงไว้ในพื้นที่วัด
อีกหนึ่งประเพณีที่ได้รับการรื้อฟื้นเพื่อสอนธรรมคือ ” ประเพณีไหว้วัด ” ซึ่งหายไปจากท้องถิ่นในอดีตที่ชาวบ้านใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ชาวบ้านจะนัดกันพายเรือไปทำบุญ และถวายผ้าป่าตามวัดต่าง ๆ พร้อมทั้งเล่นเพลงเรือกัน ได้ทั้งบุญ และความสนุกสนานสามัคคี โดยเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11กำหนดไล่ค่ำไปทีละวัด ซึ่งวัดภูเขาทองจะตรงกับวันแรม 3 ค่ำ เดือน 11 ถึงแม้ในปัจจุบันไม่มีการพายเรือ แต่ทางวัดได้ปรับกิจกรรมให้เหมาะสม โดยยังคงความสำคัญในการมาทำบุญ และเพิ่มเติมกิจกรรมในการเรียนรู้ธรรม เช่น การแทรกเรื่องทำบุญให้เทวดา การบวงสรวง ทอดผ้าป่า และการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน เช่น การแสดงดาบศิลปะการต่อสู้ การรื้อฟื้นประเพณีที่สื่อสารธรรมทั้ง 2 ประเพณี เป็นกระบวนการที่ช่วยฟื้นฟูบทบาททางธรรมของวัดภูเขาทองให้มีความร่วมสมัย สามารถสื่อสารกับผู้มาร่วมงานทุกเพศทุกวัยได้เป็นอย่างดี (อรศรี งามวิทยาพงศ์และคณะ, 2561)


งานไหว้วัดภูเขาทอง ประเพณีสองวัฒนธรรม นอกจากการแสดงแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นที่น่าสนใจอีก เช่น การจักรสานปลาตะเพียนใบลาน โดยคุณยายประพาศ เรืองกิจ ครูช่างศิลป์ของชาวบ้านภูเขาทอง หมู่ 1การถักเปลของชาวบ้านภูเขาทอง หมู่ 2 การสาธิตอาหารไทยพื้นบ้าน ของชาวบ้านภูเขาทอง หมู่ 3 และ หมู่ 4 ที่อร่อยจนต้องกลับมาถามหาอีกอย่างแน่นอน
ช่วงฤดูที่มีน้ำมาก ข้าวกำลังเจริญเติบโตยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว จะมีการรวมตัวของชาวบ้านต่างตำบล ชวนกันไปไหว้วัดที่มีความสำคัญ นมัสการพระใหญ่ประจำวัดต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ที่วัดป่าโมก จากนั้นพายเรือมาจนถึงคลองมหานาค วัดภูเขาทอง ในคืนแรม 2 ค่ำ เดือน 11 แล้วไหว้วัดภูเขาทองกันในชาววันแรม 3 ค่ำ เดือน 11 งานไหว้วัด จึงมีการนัดหมายของพ่อเพลง แม่เพลง มาเล่นเพลงเรือกัน มีการว่าเพลงแก้กันระหว่างหนุ่มสาวต่างตำบล ด้วยความสนุกสนาน แต่ยังคงไว้ด้วยความสุภาพเพื่อเป็นการผูกมิตรต่อกัน




