ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 28: ประเพณีการทำบุญหน้าบ้านหลังบ้าน
ช่วงก่อน พ.ศ. 2499 วัดภูเขาทองเป็นวัดร้าง ไม่มีพระจำพรรษาต่อมามีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสให้เข้ามาฟื้นฟูวัด มีการปรับปรุงสัปปายะทางกายภาพให้มีความเจริญขึ้น เช่น การก่อสร้างอาคาร การจัดทำซุ้มประตูวัดเพื่อสร้างความสวยงาม รวมทั้งมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆภายในวัด เพื่อระดมทุนมาพัฒนาวัด เช่น จัดงานวัด มีการสอยดาว แสดงลิเก มีบ่อโยนเหรียญ การดูหมอดูดวง และการเช่าวัตถุมงคลต่างๆ โดยเฉพาะชื่อเสียงที่โด่งดังในหมู่นักท่องเที่ยวและดึงดูดให้มีผู้มาทำบุญจำนวนมากคือ “รอยพญานาค ” ในหอสวดมนต์ของวัดส่งผลให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทำบุญที่วัดภูเขาทอง เกิดการเร่ขายดอกไม้ธูปเทียน ชุดสังฆทาน และร้านค้าต่าง ๆ ในบริเวณวัดจนกระทั่งในช่วงเวลาต่อมา ชาวบ้านของชุมชนวัดภูเขาทองเกิดความกังวลใจต่อการจัดการภายในวัดภูเขาทอง ทั้งด้วยลักษณะภูมิทัศน์ที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม ขยะถูกทิ้งไม่เป็นที่ ความรกของตันหญ้าที่สูงถึงระดับศีรษะ ต้นไม้ขึ้นทั่วพื้นที่จนมีสภาพเป็นป่าทึบ มีมูลนกบริเวณเจดีย์ และมูลวัวที่ถูกเลี้ยงไว้ในพื้นที่วัด

โดยไม่ได้มีการดูแลและทำความสะอาดเท่าที่ควร ตลอดจนการเร่ขายของต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้เข้าวัด และประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อความเลื่อมใสศรัทธาของชาวพุทธในชุมชนมากที่สุดคือ มีคฤหัสถ์เข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณใต้ถุนศาลาการเปรียญมีการแบ่งเป็นห้องแถวและขยายพื้นที่ออกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีการสร้างบ้านหลายหลังบริเวณรอบวัดภูเขาทอง ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของวัดที่มีพระและคฤหัสถ์อยู่ปะปนกัน ไม่ได้รับการแบ่งแยกให้ชัดเจนด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ชาวพุทธภูเขาทองจึงตัดสินใจไปทำบุญที่วัดอื่นใกล้กับชุมชนเป็นเวลานานกว่า 30 ปี เมื่อวัดไม่สามารถทำหน้าที่ขัดเกลาจิตใจของผู้คนได้ดังเดิม รวมถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยายิ่งก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมที่กระทบกับวัด จากสภาพแวดล้อมของวัดที่มีพื้นที่เป็นป่าทึบแลดูรกร้าง และมืดมิดเนื่องจากแสงสว่างของไฟฟ้าไม่ทั่วถึง ทำให้มีคนแอบเข้ามาใช้พื้นที่แลกยาเสพติด รวมถึงการก่ออาชญากรรมที่กลุ่มคนเข้ามาลักเล็กขโมยน้อยทรัพย์สินของวัดทำให้วัดกลายเป็นพื้นที่ซึ่งผู้คนในชุมชนรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่เอื้อให้เกิดแรงจูงใจในการเข้าวัดเพื่อทำบุญหรือศึกษาธรรมะแต่อย่างใดจนกระทั่ง พ.ศ. 2557 เกิดการร้องเรียนไปยังเจ้าคณะอำเภอ จึงได้มีการเลื่อนตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปเดิมให้เป็นเจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์วัดภูเขาทอง พร้อมทั้งคัดสรรพระรูปใหม่ขึ้นมาเป็นเจ้าอาวาสวัดภูเขาทอง คือ พระครูใบฎีกาประเทือง กิตติปัญโญ ซึ่งย้ายจากวัดใหญ่ชัยมงคลมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดภูเขาทองรูปที่ ๕ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กระบวนการฟื้นฟูวัดเพื่อให้กลับมาทำบทบาทด้านการพัฒนาจิตวิญญาณและการเกื้อกูลสังคมจึงเกิดขึ้นมาโดยสืบเนื่องถึงปัจจุบัน
เจ้าอาวาสองค์ใหม่มีกระบวนการฟื้นฟูวัดใน 3 กระบวนการ ซึ่งประเพณีการทำบุญหน้าบ้านหลังบ้านอยู่ในกระบวนที่ 2 การฟื้นฟูความสัมพันธ์วัด – ชุมชน ลำดับที่ 2 การร่วมงานประเพณีชุมชน
ชุมชนชาวพุทธในระดับตำบลภูเขาทอง มีการจัดประเพณีไหว้ศาลประจำหมู่บ้านเป็นประจำทุกปี คือการทำบุญศาลเจ้าพ่อปู่ท้วม (ศาลท้ายหมู่บ้านหัวพรวน) ศาลกลางหมู่บ้านหัวพรวน และศาลปูชีปะขาว (ในพื้นที่โบราณสถานของวัดภูเขาทอง) กิจกรรมมีการก่อพระเจดีย์ทราย และทำบุญตักบาตร โดยในงานบุญชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป รวมถึงพระวัดภูเขาทองให้ทำพิธีทางศาสนาของทั้ง 3 พื้นที่ การเข้าร่วมงานประเพณีสำคัญของชุมชนเป็นโอกาสได้รู้จักชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นจากการเดินบิณฑบาต และยังได้รู้จักผู้นำชุมชน พระสงฆ์จากวัดอื่น ๆ อีกด้วยกระบวนการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของวัดและชุมชนของ
วัดภูเขาทองมีเงื่อนไขพิเศษที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นที่จะต้องคำนึงถึงด้วย นั่นคือวัดภูเขาทองตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนชาวมุสลิม ผู้นำชุมชน เช่น นายกองค์การบริหารรวบรวมข้อมูลครัวเรือนที่ยังอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่วัด เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลสำหรับการบริหารพื้นที่วัดให้เหมาะสม ไม่เกิดปัญหาอีกต่อไป ความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังของวัด และความมุ่งมั่นตั้งใจในการฟื้นฟูวัดภูเขาทองของเจ้าอาวาสได้เรียกคืนความศรัทธาจากชาวบ้านในชุมชนซึ่งยังมิได้โยกย้ายถิ่นเหมือนวัดในเขตเมืองและคฤหัสถ์กลุ่มใหม่ ทั้งใกล้และไกลวัด เอื้อไปสู่การได้รับความสนับสนุนในการฟื้นฟูสถานที่โดยต่อเนื่อง เปลี่ยนวัดภูเขาทองจากเดิมที่ถูกมองเป็นวัดรกร้างเต็มไปด้วยใบไม้ใบหญ้า มูลสัตว์ และสิ่งสกปรกต่าง ๆ การอยู่อาศัยปะปนพระ-ชาวบ้าน กลายเป็นวัดที่สะอาด ปลอดภัย มีความร่มรื่นจากต้นไม้ เป็นพื้นที่พักผ่อนที่สร้างความสบายตาและสบายใจให้แก่ผู้ที่ผ่านไปมา กลายเป็นพื้นที่ซึ่งเอื้อต่อการประกอบกิจของพระสงฆ์และวัด สามารถรองรับคฤหัสถ์ผู้มาร่วมทำบุญและร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาต่างๆ ได้ (อรศรี งามวิทยาพงศ์และคณะ, 2560)
ประเพณีท้องถิ่นของชาวตำบลภูเขาทอง ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน คือการทำบุญใหญ่ช่วงหลังวันสงกรานต์ ที่จะมีการจัดต่อเนื่องกันหลายวัน ณ สถานที่ศักดิสิทธิ์หลายแห่ง ที่ชาวบ้านในตำบลให้การนับถือบูชา ทั้งสถานที่ศักดิสิทธิ์ที่อยู่หน้าบ้าน และหลังบ้าน โดยลำดับสถานที่ตามลำน้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านเรียกการทำบุญใหญ่ประจำปีของท้องถิ่นนี้ว่า “ทำบุญหน้าบ้านหลังบ้าน” โดยมีกิจกรรมตามลำดับดังนี้
วันที่ 15 เมษายน จะเริ่มทำบุญที่วัดดาวดึงส์ ซึ่งเป็นโบราณสถานร้าง ในหมู่ 4 บ้านหาดทราย ที่ชาวบ้านร่วมกันฟื้นฟูบูรณะพุทธรูปและสร้างศาลาคลุมไว้ โดยมีกิจกรรมรำวงรื่นเริง และก่อพระเจดีย์ทรายในช่วงเย็น
ระหว่าง วันที่ 16 – 18 เมษายน จะมีการทำบุญที่บริเวณศาลพ่อปู่ท่วม หมู่ที่ 3 บ้านหัวพรวน ซึ่งจัดกันต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 วัน โดยมีกิจกรรมรื่นเริง และก่อพระเจดีย์ทรายเช่นเดียวกัน
วันที่ 19 เมษายน จะมีการทำบุญที่ศาลปู่ชีปะขาว ภายในวัดภูเขาทอง และมีการรดน้ำขอพระผู้ใหญ่
วันที่ 20 มีการทำบุญที่ศาลเจ้าแม่นิ่ม หมู่ที่ 1 บ้านช่องลม
การทำบุญหน้าบ้านหลังบ้าน ของชาวบ้านในตำบลภูเขาทองนี้ สะท้อนได้ถึงความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน ที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นประเพณีสำคัญประจำท้องถิ่นตำบล ภูเขาทอง ( อาจไม่ได้วันตามนี้ เพราะว่าจะมีกำหนดวันแต่ละปีไม่เหมือนกัน ) (องค์การบริหารส่วนตำบลภูเขาทอง, 2564)
นอกจากนี้ยังมีการทำบุญกลางบ้านทุกปี “ศาลเจ้าแม่นุ่ม” ใกล้ต้นสะตือเก่าแก่ของชุมชนบริเวณซอย 6 และ 7 ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนในกลุ่มบ้านนี้เคารพศรัทธา โดยมีการรวมตัวจัดงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นประจำทุกปี ดังที่ข้าราชการครูเกษียณอายุในซอย 6 เล่าว่า “เมื่อก่อนตรงนี้เคยเป็นลานนวดข้าวกว้างมาก รอบ ๆ มองไปก็มีแต่นา เวลาทำบุญก็จะมาช่วยกันกวาดลานเพราะเป็นช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จพอดีตั้งแต่สมัยที่ยังเด็ก พ่อแม่ก็จะพาครูและฟี่ ๆ น้อง ๆ มาทำบุญร่วมกัน บางคนก็ไปอยู่ที่อื่นไปทำงานไปมีครอบครัว แต่พอถึงวันทำบุญก็จะโทรศัพท์บอกกัน แต่ส่วนมากคนก็จะรู้กันว่าหลังสงกรานต์ 1 สัปดาห์ที่นี่จะมีการทำบุญ ก็จะมาร่วมทำบุญกัน ” (สุกัญญา หล่อประเสริฐ, 2560, 22 เมษายน)