ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 25: สำนักดาบพุทไธสวรรย์

สำนักดาบพุทไธสวรรย์ 

          สำนักดาบพุทไธสวรรย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในหมู่ 1 ตำบลภูเขาทอง เป็นสำนักสอนศิลปะป้องกันตัวด้วยมีดดาบ ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เชื่อกันว่าเป็นสำนักดาบที่ได้ถ่ายทอดวิชามาจาก สำนักดาบพุทไธสวรรย์แห่งวัดพุทไธสวรรย์ เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการฟื้นฟูวิชาดาบโดย “พ่อครูสมัย” หรือนายสมัย เมษะมาน ที่ได้ศึกษาวิชาเพลงดาบด้วยตนเองจากมรดกตกทอดมา และยังได้ศึกษาเพิ่มเติม  กับอาจารย์นาค เทพหัสดิน และเปิดสำนักดาบขึ้นที่วัดระฆัง กรุงเทพมหานคร มีลูกศิษย์ลูกหา เป็นทหาร ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป และชาวต่างชาติ โดยมีสาขาอยู่ในแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษด้วย  

          สำนักดาบพุทไธสวรรย์ ได้ย้ายจากกรุงเทพฯ กลับมาสู่ถิ่นฐานต้นกำเนิดของวิชาดาบที่พระนครศรีอยุธยา โดยย้ายมาอยู่ที่ตำบลภูเขาทอง เมื่อ พ.ศ.2547 เปิดสอนให้ผู้สนใจทั่วไปทั้งคนในพื้นที่ และผู้สนใจจากที่ต่างๆ เป็นการแสดงการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธโบราณ (ภูชิต ภูชํานิ ,ธวัชชัย ประหยัดวงศ์และชนกนันท์ นราแก้ว, ม.ป.ป.)

          จากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญรหัส 005 “สำนักดาบพุทไธสวรรย์ในขณะที่มีงานการแสดง  ได้ให้ครูโม ปลื้มปรีชา เป็นผู้จัดหาวงปี่กลองมาเป่าบรรเลง และตีประกอบการแสดงทุกครั้ง โดยในงาน การแสดงที่สำคัญๆ ครูโม ปลื้มปรีชา จะเป็นผู้ที่เป่าปี่ชวาด้วยตนเอง” (ฐิติกิติ์ ศิริชานนท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สหวัฒน์ ปลื้มปรีชา และบำรุง พาทยกุล บัณฑิตศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, 2561)

          องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เมื่อคราวเสด็จทอดพระเนตรพระราชวังเมืองโบราณอยุธยา ทรงมีพระราชดำรัส และพระราชทานธง และเนื้อเพลง เราสู้ แก่ทหาร ตำรวจ อาสาสมัครเมื่อปี พ.ศ 2506 ตอนหนึ่งว่า “เรื่องการรู้จักบ้านเมืองของตนเอง เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการสร้างรากฐานแห่งความรู้สึกในชาติ การที่เราจะศึกษา และรักอะไรได้ลึกซึ้ง และยาวนาน เราต้องรู้จักสิ่งที่เราจะรักเสียก่อนเราจะรักโดยไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นนั้นย่อมทำได้ยาก และแม้จะรักได้ก็เพียงรักด้วยอารมณ์เท่านั้น ไม่ใช่รักด้วยเหตุผล การโฆษณาน้อมใจด้วยเพลงก็ดี ด้วยละครก็ดี อาจทำให้เกิดความรักชาติได้เหมือนกัน แต่เป็นไปด้วยผิวเผิน  ไม่แน่นแฟ้นเท่ากับที่เราจะพยายามบอกว่า แผ่นดินของเราอยู่ที่ไหนบ้าง เป็นอย่างไร มีอะไรควรรักษาหวงแหน  นี่เป็นเพียงข้อคิด เพื่อชี้ให้เห็นว่าความเป็นไทย มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และเกี่ยวข้องเสมอสัมพันธ์กับชีวิตของคนไทยด้วย โดยที่เราคนไทยจะต้องมีความเข้าใจความเป็นไทยให้ตรงกัน ควรจะต้องสั่งสอนอบรม  ให้เด็กไทยซาบซึ้งความหมายความเป็นไทย และดำเนินชีวิตตามแบบฉบับของคนไทย เพื่อความเป็นไทยเอาไว้ให้ได้ถึงเวลาแล้ว ที่เราจำต้องสร้างความรู้สึกของคนในชาติเรา ให้รักความเป็นไทยตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก คนไทยเท่านั้นที่รู้จัก และซาบซึ้งในภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรม และศิลปะของไทยเราเอง และก็คนไทยเท่านั้นที่รักษา และพัฒนามรดกเหล่านั้นของเราให้เจริญยิ่งขึ้นไป ในปัจจุบันเมืองไทย              

          เป็นแห่งเดียวในโลก ที่มีพุทธศาสนารุ่งเรืองที่สุด มีวัดที่ประกอบด้วยศิลปะที่งดงาม สถานที่แสดงถึง  ความรุ่งโรจน์ในสมัยอดีตสมัยอยู่เป็นอันมาก นอกจากนั้นวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามของชาติไทย ก็เป็นสิ่งที่ชาวต่างประเทศสนใจ ด้วยความนิยมชมชื่น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มิได้ให้ความสนใจในสิ่งที่มีค่าเหล่านั้นเท่าที่ควร ซึ่งได้มีชาวต่างชาติเคยแสดงความห่วงใยว่า คนไทยกำลังทำลายตัวเอง ด้วยความหลงงมงายในของต่างชาติ แผ่นดินไทยของเราบางครั้งร้อน บางครั้งเย็น เราก็อยู่ของเรามาได้ เราจะต้องสู้ อยู่บนพื้นแผ่นดินไทยของเรานี้ เราถอยต่อไปไม่ได้อีกแล้ว เราจะไม่หนีอีกแล้ว เราจะต้องสู้เพื่อประเทศชาติไทย และประชาชน”

          ในท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนผันแปรเปลี่ยนผกผัน ไทยยังคงเป็นไทยอยู่ได้ด้วยความสำนึก ในเอกลักษณ์มรดกวัฒนธรรม ที่มีมาสืบเนื่องช้านาน เรามีศาสนาพุทธเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว น้อมนำจิตใจ วิถีชีวิตแบบไทย ที่ผสมผสานกลมกลืน ภาษาสอดคล้องด้วยสุนทรียะ และภูมิปัญญาภายใต้ความเชื่อ  และคติธรรมของศาสนาพุทธ อาจารย์สมัย เมษะมาน อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านผักไห่ เป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด ท่านเห็นสิ่งเหล่านี้อยู่ชั่วนาตาปี อิฐก้อนแล้วก็เล่าที่ย่างเหยียบลงไปตั้งแต่เล็กจนโต จิตก็หวนระลึกถึงอดีต วัดวาอารามประสาทราชวัง มณเฑียรอันใหญ่โตรุ่งเรืองในอดีต ต้องพันสูญสิ้นเพราะความแตกแยก และประโยชน์เพียงเศษปฏิกูลของคนบางคน วัดพุทไธสวรรย์นั้นเล่าแม้ข้าศึกจะมิได้ทลาย แต่ด้วยกาลเวลา  กับคนใจบาปอย่าช้าเข้ามาขุดคุ้ยหาสมบัติ ก็มาพลอยพินาศสูญสลาย วัดพุทไธสวรรย์อนุสรณ์แห่งการสร้างชาติของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งพระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนาเป็นพระอารามหลวง คราวอพยพผู้คนหนีโรคระบาด มาจากสุวรรณภูมิ

          วัดพุทไธสวรรย์ ซึ่งเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย สั่งสอนอบรมศิลปะทุกแขนง แม้กระทั่งยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการเมือง การปกครอง แม้องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระเอกาทศรถพระเจ้าตากสิน พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระยาสุรสีห์บรมราชาเจ้า ตลอดจนขุนศึก ขุนพล กำลังฝึกซ้อมอาวุธเพื่อเตรียมความพร้อมไว้ในยามศึก

          วัดพุทไธสวรรย์ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและพระเพทราชา

          วัดพุทไธสวรรย์ เป็นวัดที่พระอุบาลี ไปสืบทอดพระพุทธศาสนาในลังกาจนได้ชื่อว่า สยามวงศ์ หรืออุบาลีวงศ์ในปัจจุบัน บัดนี้วัดพุทธไทยสวรรค์ กลายเป็นวัดร้างมีแต่เสียงร้องของนกกา สิ่งเหล่านี้  ได้ปลุกแล้วสำนึกของอาจารย์สมัย เมษะมาน อยู่ตลอดเวลา ท่านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อศึกษาจนจบพละศึกษาเอก ด้วยสำนึกถึงคุณแผ่นดิน และบรรพบุรุษ ตลอดจนพระบารมีของพระเจ้าอู่ทองที่ได้ทรงเสียสละ พระวรกาย เพื่อแลกผืนแผ่นดินศรีอยุธยา จึงนำเรื่องเข้าปรึกษาหารือกับท่านอาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ.อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น และเป็นอาจารย์สอนวิชากระบี่กระบอง ของวิทยาลัยพลศึกษา ขออนุญาตท่านฝึกศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ ท่านก็สนับสนุนจึงเริ่มทดลองฝึกสอน ครั้งแรกขึ้นที่ข้างวัดระฆังโฆษิตาราม

          ต่อมา มีเยาวชนสนใจมากขึ้น ท่านอาจารย์สมัย เมษะมาน จึงขออนุญาตจดทะเบียนเป็นโรงเรียนชื่อว่า   “โรงเรียนสำนักดาบพุทไธสวรรย์แห่งกรุงศรีอยุธยา” โดยท่านได้รับตำแหน่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

          ต่อมาได้ขยายผลไปสู่ลูกเสือชาวบ้าน และพัฒนาชุมชนทั่วประเทศ เมื่อเห็นว่าวิชานี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเยาวชนไทย จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานธงชัย และตราประจำโรงเรียนสำนักดาบพุทไธสวรรย์  เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2500 เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรกิจกรรม และการดำเนินงานต่างๆของโรงเรียนก็ดำรัสแก่อาจารย์สมัยว่า “ทำตนให้เป็นที่น่าเชื่อถือ อย่าเลิกนะฉันเอาใจช่วยจงจัดให้เป็นกองทัพ” ด้วยถ้อยคำรับสั่งเพียงสั้นๆ เหมือนเป็นน้ำชโลมใจ ทำให้อาจารย์สมัย เกิดพละกำลังในการทำงานให้ยิ่งขึ้นไปโดยไม่ย่อท้อ ต่อมาได้ขยายงานเผยแพร่เข้าไปในหน่วยงานทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และหน่วยงานราชการต่างๆ จนได้รับเกียรติเป็นบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาเผยแพร่  ภูมิปัญญาของชาติไทย ประจำปี 2537 ก่อนที่ท่านจะละสังขารไปเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540

           แม้ท่านอาจารย์สมัยจะวางจากโลกไปแล้ว แต่งาน และอุดมการณ์ของท่าน ก็ได้รับสืบสานต่อไป  โดยทายาท อาจารย์ปราโมทย์ เมษะมาน นับได้ว่าสืบสายเลือดทางการต่อสู้ จากอาจารย์สมัย ผู้เป็นบิดามาตั้งแต่เยาว์วัย เป็นผู้สนใจในการถ่ายทอดความรู้ และศึกษา วิทยายุทธ ทุกประเภท และปัจจุบันมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับจากประชาชนไทย ไม่ยิ่งย่อนไปกว่าอาจารย์สมัย ผู้เป็นบิดา

เป็นผู้ก่อตั้ง สถาบันศิลปะการต่อสู้ปราโมทย์ยิม พุทไธสวรรย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒0 ขึ้นที่ถนนเพชรบุรี นับเป็นสาขาของโรงเรียนสำนักดาบพุทไธสวรรย์ฯ เป็นแห่งแรก โดยมีวัตถุประสงค์ และการดำเนินงานเช่นเดียวกัน โดยอาจารย์สมัยเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด เน้นการเผยแพร่ความรู้ในการสร้างความปลอดภัย

และป้องกันตัวเองในสังคม สร้างหลักสูตร “ไทยพิชัยยุทธ” เป็นการต่อสู้ของชาติไทย ซึ่งเยาวชนจะต้องเรียนรู้เป็นศิลปะประจำชาติ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป หลักสูตร “ไทยพิชัยยุทธ” เป็นศิลปะการต่อสู้ของไทย ผสมผสานมือเปล่า และอาวุธ ซึ่งอาจารย์ปราโมทย์ เมษะมาน มีความเชี่ยวชาญการต่อสู้มือเปล่า โดยสำเร็จการศึกษา วิชายูโด คาราเต้ ไอคิโด และเคนโด จากสถาบันต้นตำรับประเทศญี่ปุ่น และมีคุณวุฒิสายดำชั้นสูงทุกวิชา ซึ่งนับได้ว่าเป็นบุคคลเดียวในประเทศไทย ที่มีความรู้แตกฉาน หลายแขนงวิชาการต่อสู้           ประกอบกับได้รับการถ่ายทอดวิชา กระบี่ – กระบอง จากสำนักดาบพุทไธสวรรย์ โดยบิดาอาจารย์สมัย ประสิทธิประสาทให้จนหมดสิ้น และอาจารย์ปราโมทย์ เมษะมาน เอง ยังศึกษาค้นคว้า ตำรับพิชัยสงคราม ยุทธวิธีการต่อสู้ของการทหารของชาติไทยอย่างลึกซึ้งด้วย ไม่เพียงเท่านั้น แม้วิชาดาบสากล ยังนับได้ว่าเป็นผู้มีฝีมือ เป็นผู้หนึ่งที่ร่วมจัดตั้ง สมาคมดาบสากลแห่งประเทศไทย ฝึกสอนนักกีฬา จนสามารถส่งไปแข่งขันโอลิมปิกและท่านเองเข้าร่วมแข่งขัน และได้รับตำแหน่งแชมเปี้ยนดาบสากลคนแรกของเมืองไทย อาจารย์ปราโมทย์ เป็นผู้ช่วยบริหาร และวางหลักสูตรการเรียน การสอน โรงเรียนสำนักดาบพุทไธสวรรย์ฯ ร่วมกับบิดา และตนเองไปเผยแพร่ ซึ่งชื่อเสียงศิลปะการต่อสู้อาวุธโบราณในต่างประเทศ โดยการสนับสนุน ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำให้ชาวต่างประเทศ นิยมชมชอบในศิลปะของไทย นับเป็นการสร้างชื่อเสียง ให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ ซึ่งต่อมามีการตั้งสาขาในสหรัฐอเมริกา และจักรภพอังกฤษ          

          ผลงาน และกิจกรรมที่ทำชื่อเสียงแก่ อาจารย์ปราโมทย์ เมษะมาน เป็นอย่างมาก คือการจัดรายการ ศิลปะการป้องกันตัวทางโทรทัศน์ ช่อง ๔ บางขุนพรหม ( ตั้งแต่มี โทรทัศน์เป็นสถานีแรกของไทย )แนะนำ และเผยแพร่สอนวิธีป้องกันตัว ให้พ้นอันตรายจากภัยต่างๆ ได้รับการเชื่อถืออย่างแพร่หลาย และยอมรับว่าเป็นผู้นำศิลปะการป้องกันตัว สอนทางโทรทัศน์เป็นคนแรก ซึ่งต่อมาได้ขยายไปเผยแพร่  ทางสถานีโทรทัศน์ทุกสถานี รวมทั้งเป็นผู้กำกับการต่อสู้ แก่ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ มีผลงานดีเด่นอีกด้วยเป็นวิทยากรพิเศษ สอนตามหน่วยราชการ ทหาร ตำรวจ และหน่วยกำลังสำคัญอาสา อปพร. ทสปช.และลูกเสือชาวบ้านทั่วประเทศ จึงนับได้ว่า อาจารย์ปราโมทย์ เมษะมาน เป็นบุคคลที่เพียบพร้อมด้วยคุณวุฒิ และความสามารถ อันจะสืบสานและเป็นตัวแทน “สำนักดาบพุทไธสวรรย์” ที่จะรักษา เผยแพร่ศิลปะการต่อสู้ของชาติไทย ให้รุดหน้าต่อไปในอนาคตซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สมาคมศิษย์เก่าสำนักดาบพุทไธสวรรย์    โดยมี พลตรี ฉัตรชัย ธรรมรักษา นายกสมาคม และศิษย์พุทไธสวรรย์ทุกคน จะได้ร่วมกันสร้างเกียรติประวัติแก่ สำนักดาบพุทไธสวรรย์ และสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ สืบไป (ไทยพิชัยยาท551, ม.ป.ป.)

Scroll to Top