ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 4: โคกหนองนาโมเดล ตำบลภูเขาทอง
ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงทฤษฏีใหม่ รูปแบบ “โคกหนองนา โมเดล”
โคกหนองนา โมเดล ตำบลภูเขาทองนี้ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 บ้านภูเขาทอง มีพื้นที่ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ มีการขุดหนองเป็นรูปอักษรเลข 9 อันเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนา โมเดล” ระดับครัวเรือน ที่ได้รับการสนับสนุน จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ในพื้นที่ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน และชุมชน โดยพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ เพื่อเผยแพร่แนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน และนักท่องเที่ยวทั่วไป
นายกิจจา ทองแดง พัฒนาการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาขยายผลในกระบวนการทำงาน โดย “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนาพัฒนาชุมชน” เป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ได้จริงในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน โดยเฉพาะเจ้าของแปลง ได้เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนาพื้นที่ของตนเอง เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ เพื่อเผยแพร่แนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชน ได้ปลูกพืชสมุนไพร เช่น กระชาย และฟ้าทะลายโจร เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกัน และบรรเทาอาการจากโรคระบาด ซึ่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รณรงณ์ให้ประชาชนในจังหวัดฯ รวมถึงเจ้าของแปลงโครงการ “โคกหนองนา โมเดล” ได้ร่วมกันปลูกพืชสมุนไพรดังกล่าว เพื่อใช้ในครัวเรือนและเพื่อประโยชน์ต่อคนในชุมชน หมู่บ้าน ตำบล ต่อไป
ด้านนางเอื้อมพร ศาสนกุล เจ้าของแปลง 3 ไร่ เผยว่าขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน ที่ให้โอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนา โมเดล” เพราะเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้ได้จริงในพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือน และชุมชน และในอนาคตมีความมุ่งหวังจะพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน ตำบล ได้ศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในวิถีชีวิต
แนวคิดโคกหนองนาโมเดล มุ่งเน้นการจัดการแบ่งพื้นที่ ปลูกสวน ปลูกป่า ขุดสระ ทำนา สร้างที่พักอาศัย โบราณถือว่าเป็นหน้าที่การงานชั้นสูง ที่มีการส่งต่อรุ่นต่อรุ่น เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัด รวมกสิกรรมวิถีอินทรีย์ที่หลากหลาย ให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ได้แก่ 1) โคกเป็นพื้นที่สูง “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” 2) หนอง เป็นการขุดหนอง คลอง หรือร่องน้ำ เรียกกันใหม่ว่า คลองไส้ไก่ และ 3) นา เป็นพื้นที่นาเพื่อปลูกข้าวอินทรีย์ มีการจัดการฟื้นฟูดิน ทำกสิกรรมอินทรีย์ยั่งยืนคืนชีวิตเล็ก ๆ สู่แผ่นดิน แนวคิดการทำโคกหนองนาโมเดลให้สำเร็จ ต้องอาศัยความพอใจเชื่อมั่นการทำกสิกรรมแบบผสมผสาน มากกว่าการทำกสิกรรมเชิงเดี่ยว ต้องขยันหมั่นเพียรลงมือทำ มีภาวะผู้นําทำกสิกรรรม มีน้ำใจไมตรีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งในครอบครัว และกลุ่มกสิกรรมด้วยกัน และอาศัยการค้นหาแนวคิดเกี่ยวกับกสิกรรมใหม่ๆ ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ระหว่างชาวกสิกร เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ครอบคลุมในมิติการพัฒนาเชิงกายภาพ ช่วยทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีมีความสุข ในพื้นที่มีอากาศบริสุทธิ์ มีสภาพแวดล้อมดี ส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรง จิตใจดี สิ่งแวดล้อมมีแต่ความสงบร่มเย็น อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งชุมชนก็จะเกิดสันติสุข แม้เมื่อมีภัยหรือวิกฤติเกิดขึ้น ข้าว ปลา อาหาร ในพื้นที่โคกหนองนาโมเดล ยังเป็นแหล่งอาหาร เพื่อนําออกมาช่วยเหลือกันโดยไม่เห็นแก่ตัว และเกิดโอกาสสร้างสรรค์สัมมาชีพที่มีความมั่นคงในชีวิตของครอบครัว เป็นอาชีพที่สุจริต ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้อย่างเป็นรูปธรรม


อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาที่สำคัญเมื่อการเกิดภัยแล้งขึ้น ย่อมสร้างความทุกข์เดือดร้อนแก่ชีวิต ให้มีความลําบากอย่างยิ่ง ทำให้ข้าวปลาอาหารที่เคยอุดมสมบูรณ์ กลับกลายเป็นความอดยาก เพราะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว หากไม่มีน้ำปลาก็ไม่มี หากไม่มีนาข้าวก็ไม่มี โดยเฉพาะวิถีชีวิตของการประกอบกสิกรรมที่ต้องอาศัยน้ำเพื่อการทำการเกษตร ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำการกสิกรรม หากขาดน้ำการทำกสิกรรมก็ไม่ได้ผลิต (Pinthong, 2020) ซึ่งการวางผังการจัดการน้ำ มีปรากฎในแนวคิดทางพุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ คือ แนวคิดรูปแบบการขุดสระโบกขรณีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ เพื่อการกักเก็บน้ำซึ่งทรงดําริการขุดสระโบกขรณี ระหว่างต้นตาล เป็นระยะๆ ที่มีระยะห่างกันของสระ 100 ชั่วธนู หรือ 1 กิโลเมตร (Phra Bhramagunabhorn P.A. Payutto, 2008) และแต่ละสระนั้นมีอยู่ 4 บันไดเป็นทางลงสู่สระโบกขรณี มีราว และหัวเสา มีรั้วล้อม 2 ชั้น ในสระโบกขรณีนั้นมีการปลูกดอกบัว (Mahachulalongkornrajavidyalaya University,1996) ปัจจุบันมีการพัฒนาศาสตร์ก็จะทำให้เกิดทฤษฎีใหม่ แม้กระทั้งการจัดการน้ำแบบทฤษฎีใหม่ (Salyakamthorn, 2016) เช่น รูปแบบธนาคารน้ำใต้ดิน นิยมนำมาใช้ในการจัดการน้ำในชุมชนมากขึ้น เป็นการขุดสระกักเก็บน้ำ โดยขุดลึกทะลุชั้นหินตับควาย ใช้ค่าเฉลี่ยความลึกของสระจากบ่อบาดาลหมู่บ้าน สระที่สามารถเก็บได้น้ำดีสังเกตจากสระ ที่มีตาน้ำซึมไหลออกมา และสระน้ำนั้นต้องมีสะดือสระด้วย(Ouanlametal., 2017) โดยใช้หลักการโคกหนองนา โมเดล และอยู่ภายใต้แนวคิดกสิกรรมทฤษฎีใหม่ เป็นในการจัดสรรจัดการกับพื้นที่ (Phonpho& Krongsamran, 2018) และการน้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในรูปแบบการทำงานตามศาสตร์พระราชา สู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิตของประชาชน ให้บรรลุตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Community Development Department, 2021)
บริบท และความเป็นมาของโคกหนองนาโมเดล คําว่า “โคกหนองนา โมเดล” เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีการกล่าวถึงกันมากในปัจจุบัน เป็นแนวคิดที่มีวิวัฒนาการพัฒนาจากหลักกสิกรรม ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ดังจะเห็นได้จากสมัยพุทธกาล มีการจัดการแบ่งพื้นที่เพื่อการปลูกสวน ปลูกป่า ขุดสระ ทำนา สร้างที่พักอาศัย เช่นเดียวกันกับโคกหนองนาโมเดล ที่สำคัญการทำโคกหนองนาโมเดล เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปลูกสวน ปลูกป่า ขุดสระน้ำ บ่อน้ำ สร้างที่พักอาศัยซึ่งมีประโยชน์มาก เรียกได้ว่า บุญย่อมเจริญขึ้นตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดกาลทุกเมื่อ ยิ่งไปกว่านั้นการทำกสิกรรม หากชาวกสิกรดำรงตนอยู่ในธรรมสมบูรณ์ด้วยศีลแล้วย่อมไปสู่สวรรค์อย่างแน่นอน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในโลกก็ยังมีกสิกรรมกรผู้ทํากสิกรรมกรรมเป็นผู้มีศีล เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ไม่เพ่งเล็ง อยากได้ของของเขา มีจิตไม่พยาบาทอันวิญญูชนให้การสรรเสริญด้วย(Mahachulalongkornrajavidyalaya University, 1996) โคกหนองนา นอกจากเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ทางด้านกสิกรรมกรรม แล้วยังเป็นศิลปะ เป็นแบบฝึกหัดที่ดี ในการที่จะรวมกสิกรรม ที่หลากหลายให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน รักษาความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นก็เกื้อกูลซึ่งกันและกัน การพัฒนาพื้นที่เป็นโคกหนองนา จึงเป็นการเสริมพื้นที่ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย(Prachachat, 2021)


จะอย่างไรก็ตาม ภูมิหลังของโคกหนองนา มีการพัฒนาอย่างอะลุ่มอล่วยเป็นพันปี เรียกว่า ตําราแบบนี้ไม่จบ แล้วก็จะพัฒนาไปเรื่อย ๆ เราก็จะค่อยๆ ก้าวหน้าไป ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์รับสั่งว่า ต้องมีพอกินพออยู่พอใช้ มีสภาพแวดล้อมดีๆ อย่าทำร้ายป่า ฟื้นฟูป่า ต้องจัดการน้ำ จัดการดิน ฝนตกมาเก็บน้ำเอาไว้ อย่าปล่อยให้น้ำชะ พังทะลายหน้าดินลงมา ก็มีวิธีเก็บ และท่านก็บอกว่าบรรพบุรุษท่านรู้ว่าทำอย่างไร พื้นที่ไหนควรทำอะไร พื้นที่ไหนไม่ควรทำอะไร เวลาไหนควรทำอะไร ก็เวลาไหนไม่ควรทำอะไร เขารู้กันมาดีอยู่แล้ว พระเจ้าอยู่หัวเล่าให้ฟัง อันนี้ทรงเรียกว่า พอเพียง และเรียกง่ายๆ ว่า ศาสตร์ของพระราชา (Salyakamthorn, 2016)
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระราชดํารัสเกี่ยวกับ โคกหนองนา โมเดล หมายถึง กสิกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน และชีวิตของพวกเรา เพราะว่าประเทศของเรานี้ไม่หนีเรื่องการกสิกรรม คือ ปากท้อง และเป็นชีวิตของเรา ตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ พระราชทานมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณมามากมาย ในเรื่องของกสิกรรม (Prachachat, 2021) กรมพัฒนาชุมชนได้นิยามความหมายของ โคกหนองนา โมเดล หมายถึง การทำเกษตรกรรรมที่ถูกพัฒนาจากบรรพบุรุษ โดยการปรับเปลี่ยนจากฐาน จากดิน จากอารยธรรม จากบริบทพื้นที่ จากวัฒนธรรมความเป็นอยู่ซึ่งเป็นการพัฒนาแบบไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ โคกหนองนา โมเดล ได้มีการพัฒนาจากเกษตรทฤษฎีเก่า กลายเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามศาสตร์พระราช ซึ่งเกษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึง องค์ความรู้ที่มีการทดลอง และพัฒนาอย่างเป็นระบบ เมื่อมีการนําไปปฏิบัติจนเกิดเป็นรูปธรรม เพราะจากเดิมเกษตรทฤษฎีเก่า มีการเก็บน้ำตามฤดูกาลไว้ในอ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อนเท่านั้น เมื่อจะใช้น้ำก็ให้ไหลผ่านไปทางคลองชลประทาน ผ่านไปยังพื้นที่เกษตรของเกษตรกร เมื่อพัฒนาสู่เกษตรทฤษฎีใหม่เกิดการสร้างพื้นที่รองรับน้ำในพื้นที่ของตนเอง เพื่อใช้ในการเกษตร โดยไม่ต้องรอน้ำตามฤดูกาลจากเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ โดยปรับพื้นที่ของตนเอง เพื่อรองรับน้ำประมาณ 20-30 % โดยกะให้เพียงพอต่อการทำเกษตรในพื้นที่ของตนเอง โดยวิธีการขุดเป็นหนอง เป็นคลองใส้ไก่ เพื่อเอาดินทำโคก สำหรับปลูกพืชผักอื่น ๆ ไว้รับประทานได้ (Community Development Department, 2021) นอกจากนั้น กรมพัฒนาชุมชน ยังได้ขยายคํานิยามความหมายโดยละเอียดของ โคกหนองนาโมเดล หมายถึง การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การกสิกรรม ซึ่งเป็นผสมผสานกสิกรรมทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ โคก-หนอง-นา โมเดล เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเอง โดยมีมนุษย์ เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบซึ่งโคก-หนอง-นา โมเดล ซึ่งเป็นแนวทางทำกสิกรรมอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบดังนี้
1. โคก หมายถึง พื้นที่สูง เกิดมาจากการนําดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้น นํามาทำเป็นโคก เพื่อปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดําริ ได้แก่ ปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ตลอดทั้งเพื่อการปลูกที่อยู่อาศัย ให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ การทำโคกขึ้นมาเพื่อทำให้ได้อาหาร และที่อยู่อาศัย โดยจัดการพื้นที่ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น ถือว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย
2. หนอง หมายถึง หนองน้ำ หรือแหล่งน้ำ การขุดหนองเพื่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง หรือในคราวที่มีความจําเป็น และสำหรับเป็นที่รองรับน้ำในยามที่เกิดน้ำท่วม ตามทฤษีหลุมขนมครก รวมไปถึงการขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำโดยรอบของพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ คลองเหล่านั้นมีการทำฝายทดน้ำด้วยเพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำและคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้ การพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งด้วยการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลากด้วย
3. นา หมายถึง พื้นที่นานั้นสำหรับปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดินนา เพื่อการทำกสิกรรมอินทรีย์ยั่งยืน เป็นการได้คืนชีวิตเล็ก ๆ หรือจุลินทรีย์ให้กลับคืนสู่แผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้นาปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน ตลอดทั้งมีการยกคันนาให้มีความสูง และกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม และกว้างพอที่จะสามารถปลูกพืชอาหารตามคันนาได้ด้วย
โคก หนอง นา โมเดล มีคุณค่า และความสำคัญในงานด้านกสิกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักเพราะเป็นจุดแข็งประเทศไทย หลักกสิกรรมโคกหนองนา เป็นการพึ่งพาตนเองให้สามารถพอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น แม้เผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด เช่น โควิด-19 คนที่มีความสุข คือ คนที่ทำกสิกรรมที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ แม้ไม่มีเงินก็สามารถดํารงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เป็นอาชีพที่ช่วยลดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชากร อีกทั้งยังช่วยลดความแออัด ลดการแย่งพื้นที่ทํากินในเมืองใหญ่ หลักสําคัญของกสิกรรม โคกหนองนาเน้นการจัดการน้ำ เพื่อให้ได้น้ำใช้ตลอดทั้งปี และไม่ต้องประสบปัญหาภัยแล้ง สามารถลดปริมาณน้ำหลาก และลดการเกิดตะกอนดินทับถม เพราะมีพื้นที่กักเก็บน้ำเพียงพอ และมีต้นไม้คอยดูดซับน้ำลงสู่ใต้ดินอีกด้วย