ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 23: ตำนานชุมชนปู่ตาชีปะขาว – แม่นางหินลอย
ตำนานพ่อปู่ชีปะขาว
พ่อปูชีปะขาวเป็นเจ้าที่เจ้าทางประจำวัดภูเขาทอง เดิมชาวบ้านสร้างศาลเจ้าที่เล็กๆ ตั้งอยู่ภายในวัด ต่อมาเมื่อกรมศิลปากรมาดำเนินการบูรณะวัดภูเขาทอง ราว พ.ศ. 2560 จึงได้ก่อสร้างศาลพ่อปูชีปะขาวให้ใหม่ ด้วยสถาปัตยกรรมทรงไทยที่สวยงาม
ศาลพ่อปูชีปะขาว ถือว่าเป็น 1 ใน 4 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงนับถือเป็นอย่างมาก โดยในทุกปีจะมีประเพณีทำบุญในช่วงวันสงกรานต์ ที่เรียกกันว่า “ทำบุญหน้าบ้านหลังบ้าน” ซึ่งชาวบ้านจะเวียนไปทำบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ 4 แห่ง ในตำบลภูเขาทอง โดยลำดับสถานที่ตามลำน้ำเจ้าพระยา เริ่มจากวัดดาวดึงส์ หมู่ 4 เป็นสถานที่แรก ตามด้วยศาลพ่อปู่ท่วม หมู่ 3 ศาลพ่อปู่ชีปะขาว หมู่ 2 และสุดท้ายคือศาลเจ้าแม่นุ่ม หมู่ 1
ชาวบ้านทางฝั่งวัดภูเขาทองมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพ่อปูชีปะขาว โดยเล่าเรื่องเชื่อมโยงกับตำนานนางหินลอยที่อยู่ภายในมัสยิดอาลียิดดารอยน์ของชุมชนมุสลิมว่า พ่อปู่ชีปะขาวกับนางหินลอย เป็นพี่น้องกัน ซึ่งพ่อปู่ชีปะขาวเลือกที่จะอยู่กับวัดภูเขาทอง แต่นางหินลอยกลับเลือกที่จะอยู่กับทางมัสยิด แม้ว่าจะมีผู้พยายามเคลื่อนย้ายหินที่เป็นสถานที่สถิตของนางออกไป แต่นางก็ไม่ยอมไปไหน มีผู้เล่าว่า ครั้งหนึ่งนางหินลอยมาเข้าฝัน บอกว่าอยากมาเยี่ยมพ่อปูชีปะขาว จึงเดินตามมาถึงเขตวัดภูเขาทอง
บางคนเล่าว่า ตนเคยพบเห็นนิมิตของพ่อปู่ชีปะขาว ที่ปรากฏตัวให้เห็นขณะทำความสะอาดลานวัด ว่ามีลักษณะเป็นชายสูงอายุแต่งกายคล้ายพราหณ์ คล้องสร้อยสังวาล ยืนอยู่บนฐานเจดีย์ ซึ่งเป็นเรื่องเล่ามุกขปาถะที่เล่าสู่กันฟังในท้องถิ่น (องค์การบริหารส่วนตำบลภูเขาทอง, 2564)
ชุมชนชาวพุทธในระดับตำบลภูเขาทอง มีการจัดประเพณีไหว้ศาลประจำหมู่บ้านเป็นประจำทุกปี คือการทำบุญศาลเจ้าพ่อปู่ท้วม (ศาลท้ายหมู่บ้านหัวพรวน)ศาลกลางหมู่บ้านหัวพรวน และศาลปู่ชีปะขาว (ในพื้นที่โบราณสถานของวัดภูเขาทอง) กิจกรรมมีการก่อพระเจดีย์ทราย และทำบุญตักบาตร โดยในงานบุญชาวบ้านจะนิมนต์พระสงฆ์ 9 รูป รวมถึงพระวัดภูเขาทองให้ทำพิธีทางศาสนาของทั้ง 3 พื้นที่ การเข้าร่วมงานประเพณีสำคัญของชุมชนเป็นโอกาสได้รู้จักชาวบ้านในพื้นที่ต่าง ๆเพิ่มมากขึ้นจากการเดินบิณฑบาต และยังได้รู้จักผู้นำชุมชน พระสงฆ์จากวัดอื่น ๆ อีกด้วย (อรศรี งามวิทยาพงศ์และคณะ, 2560)






ตำนานแม่นางหินลอย
เป็นเรื่องเล่าประจำท้องถิ่นแห่งทุ่งภูเขาทอง เกี่ยวกับหินก้อนใหญ่ สีเทา-ขาว รูปร่างค่อนข้างรี ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังมัสยิดอาลียิดดารอยน์
ชื่อของ “นางหินลอย” นั้น มีปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาอย่าง “พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา” ที่เขียนไว้ว่า “เมื่อรดูเทศกาลตรุศนสงกรานต์ ที่แม่น้ำหัวแหลมหน้าวัดภูเขาทองใต้ศาลเจ้านางหินลอยนั้น พวกจีนตั้งโรงต้มสุราเลี้ยงสุกรฃาย 1” อันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า “นางหินลอย” เป็นชื่อของศาลเจ้าแห่งหนึ่งในชุมชนชาวจีน ย่านภูเขาทอง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในขณะที่ชุมชนมุสลิมละแวกมัสยิดอาลียิดดารอยน์ในปัจจุบัน กลับมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับนางหินลอยในมิติที่ต่างออกไป และมีอยู่หลายสำนวน คือมีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับแม่นางหินลอยไว้ในหนังสือที่ระลึกพิธีเปิดป้ายมัสยิดอาลียิดดารอยน์ว่า แม่นางหินลอย เป็นก้อนหินใหญ่รูปทรงค่อนข้างรี ได้ลอยน้ำลงมาทางทิศเหนือของลำน้ำเจ้าพระยา แล้วลอยวนเข้ามาในคลองเจ๊ก หรือคลองวัดภูเขาทอง ซึ่งมีปากคลองอยู่ข้างกับมัสยิดอาลียิดดารอยน์ ผู้คนที่เห็นเหตุการณ์ต่างพยายามอัญเชิญขึ้นจากคลองแต่ก็ไม่สำเร็จ ต่อมาแม่นางหินลอยได้มาเข้าฝัน “จูหวัง” ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของชาวมุสลิมย่านภูเขาทองว่า แม่นางหินลอยบอกว่า “ให้มารับหนูที หนูจะมาอยู่กับพ่อ” จูหวังจึงได้ให้ชาวบ้าน ช่วยกันนำแม่นางหินลอยขึ้นมาจากคลอง แล้วนำไปตั้งไว้ที่โคกต้นสะเดา เล่ากันว่า แม่นางหินลอยบอกให้จูหวังผ่าก้อนหินเพื่อจะได้พบสมบัติที่ซ่อนอยู่ภายในแต่จูหวังก็คงรักษาไว้ หาได้ทำเช่นนั้น และยังเล่ากันว่า โต๊ะเยาะห์ ภรรยาของจูหวัง ได้เคยเล่าไว้ว่า เห็นจูหวังพูดคุยกับหญิงสาวอายุราว 15 ปี เกล้าผมจุก ปักปิ่นทอง สวมกำไลข้อมูล กำไลข้อเท้า ราวกับว่าเป็นบุตรสาวของจูหวัง
นอกจากนี้ เรื่องราวของแม่นางหินลอยในบางสำนวน โดยเล่าเป็นมุขปาฐะว่า แม่นางหินลอย ลอยน้ำเข้ามาจากแม่น้ำเจ้าพระยา มาอยู่ในคลองหลังมัสยิดมาเป็นเวลานานแล้ว และไม่มีผู้ใดสามารถเคลื่อนย้ายหินก้อนนี้ได้ นอกเสียจากโต๊ะกีมุต ซึ่งเป็นบิดาของจูหวัง แม้แต่ในปัจจุบันชาวมุสลิมชุมชนมัสยิดอาลียิดดารอยน์ ยังมีความเชื่อว่า มีแต่ลูกหลายของโต๊ะกีมุตเท่านั้น ที่สามารถเคลื่อนย้ายแม่นางหินลอยได้
บางคนเล่ากันว่า ฝันเห็นหญิงสาวแต่ชุดไทย ห่มสไบ นุ่งผ้าโจงกระเบนบอกว่าตนเองเป็นชาวพุทธ มาขออาศัยอยู่กับชาวมุสลิม บ้างก็เล่าว่า มีผู้ฝันว่า แม่นางหินลอย มาบอกให้ผ่าหินออก แล้วจะพบกับทรัพย์สมบัติจำนวนมากอยู่ภายในก้อนหิน แต่ก็ไม่มีผู้ใดกล้าทำเช่นนั้น
ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องเล่าขานในหมู่ชาวมุสลิมเท่านั้น ชาวพุทธในหมู่บ้านใกล้เคียงก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับแม่นางหินลอยที่อยู่ในมัสยิดอาลียิดดารอยน์ด้วยเช่นกัน โดยเล่ากันว่า แม่นางหินลอยเป็นน้องสาวของพ่อปูชีปะขาว ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่ ที่ตั้งอยู่ในวัดภูเขาทอง แต่นางเลือกที่จะอยู่กับชุมชนชาวมุสลิมโดยไม่ยอมไปไหน แม้ว่าจะมีผู้พยายามเคลื่อนย้ายหินซึ่งเป็นตัวแทนของแม่นางหินลอย แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถเคลื่อนย้ายได้สำเร็จ (สายป่าน ปุริวรรณชนะ, 2557)




แม่นางหินลอยมาจากทางเหนือตามแม่น้ำเจ้าพระยา ถึงหน้าวัดใดไม่ทราบซัด มีชาวบ้านพบเห็นเป็นหินประหลาด ลอยน้ำได้ จึงคิดอยากเชิญอยู่ที่วัดนั้น ณ. ที่วัด ได้ทำการบวงสรวงเชื้อเชิญขึ้นอยู่ที่วัด แม่นางหินไม่ยอม ต่อมาได้ลอยมาวนเข้าปากคลองเจ็ก (คลองวัดภูเขาทอง) ในปัจจุบัน ลอยทวนน้ำมาอยู่ในคลองดังกล่าว ชาวบ้านทราบข่าวจึงแห่กันมาดู ต่างงงนสนเทห์ว่าหินนี้มาอยู่ ณ. จุดนี้ได้อย่างไร อยู่มาวันหนึ่ง ความทราบถึงในทหารในกรมหัวแหลม ได้เกณฑ์ทหารมาเป็นกองร้อย โดยนำเรือสาลำใหญ่มาหนึ่งลำ จะเชิญแม่นางหินให้ไปอยู่ที่เจดีย์ ศรีสุริโยทัย
แม่นางหินไม่ยอมไปพวกทหารได้ช่วยกันยกขึ้นเรือ เรือก็จะล่ม หลายต่อหลายครั้ง จนสุดความสามารถไม่อาจเอาไปได้ อยู่ต่อมาไม่นาน ได้มาเข้าฝันจูหวัง(บุตรกีมุด ธรณี) ว่า ให้มารับหนูมาที หนูจะมาอยู่กับพ่อ ปรากฏว่าเป็นจริงตามที่ตัวเองฝัน จึงได้ช่วยกัน กลิ้ง งัด โดยใช้ซอไม้ไผ่นำหินมาพำนักอยู่ใต้ต้นโคกสะเดา สูงใหญ่ประมาณสองคนโอบล้อม ประกอบกับโคกดังกล่าว เป็นโคกสูง โดยมีโรงกะต๊อบของจูหวังได้ปลูกอาศัยอยู่ด้วยขณะที่แม่นางหินพำนักอยู่ ณ. ที่ดังกล่าว ได้มีพระภิกษุองค์หนึ่งพร้อมลูกศิษย์สองคนได้มาตั้งกรด พักค้างแรมอยู่ใกล้ๆ จึงขออนุญาตจูหวังที่จะสกัดหินไป ด้วยนิสัยใจคอของจูหวังเป็น คนที่สมถะ ใครอยากได้อะไร ขออะไร ก็ไม่หวง ตามแต่ความประสงค์ของผู้ขอ พระพร้อมลูกศิษย์สกัดหินได้ไปนิดหน่อย เมื่อกลับไปที่วัด เกิดอาพาธไม่สบาย ถึงกับมรณภาพลงพร้อมกับสั่งให้ลูกศิษย์นำเศษหินมาคืนที่เดิม สันนิษฐานได้ว่า แม่นางหินไม่พอใจมีเหตุการณ์หนึ่ง เป็นเรื่องเล่าจากต๊ะเย๊าะห์(ภรรยาจูหวัง ได้เคยเล่าให้ฟังว่า มีอยู่ค่ำคืนหนึ่ง มีเสียงหัวเราะ พูดคุย หยอกล้อ ต่อกระซิก ระหว่างจูหวังกับแม่นางหิน ซึ่งเป็นรูปของเด็กหญิงสาวอายุประมาณสิบห้าขวบ เกล้าผมจุก ปักปิ่นทอง แต่งตัวเหมือนเด็กโบราณ มีกำไลที่ข้อมือและเท้า เสมือนลูกเล่นกับพ่อ หยอกล้อขึ้นบนอก โต๊ะเย๊ะห์ได้ยินเสียง จึงเปิดมุ้งดู ได้เห็นรูปดังกล่าว จึงไม่ว่ากล่าว และเป็นที่เข้าใจว่าเขาเล่นกับลูกตลอดระยะเวลาที่จูหวังยังมีชีวิตอยู่ ในอดีต จูหวังได้ช่วยรักษาคนป่วยหลายๆโรคโดยไม่ได้ตั้งกำนนครู สุดแล้วแต่จะทำซอดะเกาะห์ให้ ด้วยเหตุที่จูหวังเป็นคนสมถะ ไม่ละโมม พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่