ทุนวัฒนธรรม ลำดับที่ 43: วัดป่าพลู
จากหนังสือ อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย โดยปวัตร์ นวะมะรัตน ได้เขียนไว้ว่า วัดป่าพลูแห่งนี้ไม่พบหลักฐานการสร้าง แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างก่อนสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เพราะมีปรากฎในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้งศึกหงษาวดีตะเบ็งชเวตี้ พ.ศ. 2091 มีความพอสังเขปว่า เมื่อครั้งศึกหงษาวดีตะเบ็งชเวตี้ ยกทัพเข้าล้อมพระนครในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2091 – 2111) ได้ทำกรตั้งค่ายหลวงอยู่ที่ตำบลกุมดองบริเวณทุ่งภูเขาทองและโปรดทัพพระมหาอุปราช ตั้งค่ายที่ตำบลเพนียด ทัพพระเจ้าแปรตั้งค่ายที่ตำบลบ้านใหม่มะขามหย่อง และทัพพระยาพระสิมตั้งค่ายที่ทุ่งประเชด


ฝ่ายสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อได้ทรงทราบเรื่อง จึงทำการยกทัพไปที่บริเวณโคกพญา โดยก่อนหน้านั้นมีพระภิกษุรูปนามว่ามหานาค ซึ่งจำพรรษาที่วัดภูเขาทอง ได้ทำการกออกมาเพื่อรวบรวมญาติโยมที่เคารพนับถือท่าน ช่วยกันตั้งค่ายขุดคูกันทัพเรือของข้าศึก ที่ยกทัพมาจากเมืองกาญจนบุรี ตั้งแต่วัดภูเขาทองจนถึงวัดป่าพลู ศึกครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาได้สูญเสียสมเด็จพระสุริโยทัย และพระราชธิดาในที่รบ
เมื่อเดินทางมาถึง จะเห็นเพียงโคกดินสูง และเศษก้อนอิฐโบราณที่กระจายทั่วไป อีกทั้งได้พบกระเบื้องเชิงชายที่แตกหักจำนวนหนึ่ง รวมถึงเศษซากพระพุทธรูป และลูกนิมิตโบราณอีก 2 ลูก ที่ชาวบ้านได้ทำการสร้างศาลาเพื่อประดิษฐานองค์พระพุทธรูปที่ยังพอหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน